เว็บ "กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ฯ" ถูกบล็อค คาดฝีมือไอซีที จี้ขอดูคำสั่งศาล

เว็บ "กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ฯ" ถูกบล็อค คาดฝีมือไอซีที จี้ขอดูคำสั่งศาล

พิมพ์

 

(26 เม.ย.) ซีเจ ฮิงกิ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงาน กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย’ (Freedom Against Censorship Thailand -FACT) เปิดเผยว่า เว็บไซต์http://facthai.wordpress.com ของ กลุ่มฯ ถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ทั้งนี้ ทางกลุ่มจะยื่นหนังสือไปยังกระทรวงไอซีทีในวันจันทร์นี้ (27) เพราะหน่วยงานราชการไม่เปิดรับคำร้องเรียนในวันหยุด ถึงแม้ว่าพวกเขาจะบล็อคเว็บเมื่อวันเสาร์ (25) ที่ผ่านมา 

 

นี่เป็นแบบฉบับของระบอบการเซ็นเซอร์ที่มีการปิดกั้นจนเกินเลยเสมอๆ ในการเซ็นเซอร์แต่ละครั้งจึงมีเว็บไซต์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถูกกวาดไปด้วย เป็นประจำฮิงกิ กล่าว

 

ฮิงกิระบุว่า กลุ่มของเขาไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคนั้นก็ไม่มีเนื้อหาผิดกฏหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านเว็บไซต์ FACT สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้โดยใช้ซอฟต์แวร์ทะลวงการบล็อค

 

สำหรับเว็บไซต์ FACT เป็น เว็บที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ในประเทศไทย รวมถึงเทคนิคในการหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นรัฐบาลแรกที่บล็อคเว็บไซต์ FACT หลังจากก่อตั้งกลุ่มเมื่อพฤศจิกายน 2549 หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

 

ฮิงกิระบุว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงไอซีทียอมรับว่าได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์จำนวน 6,218 เว็บ เนื่องจากเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันกษัตริย์

 

ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24) กระทรวงไอซีทีเปิดเผยว่า ได้ยกเลิกการปิดกั้นเว็บไซต์ที่สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จำนวน 71 เว็บแล้ว

 

สำหรับเนื้อหาของหนังสือที่กลุ่ม FACT จะยื่นนั้น ระบุว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้บริการของทีโอที มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และบัดดี้ บรอดแบนด์ ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ http://facthai.wordpress.com  ของกลุ่ม FACT ได้ โดยถูกโอน (redirect) ไปที่ http://w3.mict.go.th ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าเว็บ FACT ถูกบล็อคโดยกระทรวงไอซีที (http://mict.go.th)

 

FACT ระบุว่า หากกระทรวงไอซีที และ/หรือ ทีโอที ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บ FACT ก็ ขอเรียกร้องให้แสดงคำสั่งศาลที่อนุญาตให้เซ็นเซอร์เว็บ พร้อมด้วยเหตุผลของการเซ็นเซอร์ หากไม่มีคำสั่งศาลเท่ากับว่ากระทรวงไอซีที และ/หรือ ทีโอที ทำการปิดกั้นโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ ต้องทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงเว็บไซต์ได้โดยทันที ทั้งนี้ หากกระทรวงไอซีที และ/หรือ ทีโอที ไม่สามารถแสดงคำสั่งศาลที่เกี่ยวข้องพร้อมเหตุผลในการปิดกั้นเว็บได้ ทางกลุ่มจะดำเนินการตามกฏหมายเพื่อตอบโต้

 

 

ที่มาบางส่วนจาก : นสพ.เดอะเนชั่น

 

 

 

 

ที่มา : www.prachatai.com