ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ใครได้-ใครเสีย

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ใครได้-ใครเสีย!

Filed under: Uncategorized — patriot @ 10:48 am

            จากแนวคิดประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลายพันปีที่ผ่านมา สามารถพิสูจน์ได้ว่าประชาธิปไตยได้กล่าวถึงในฐานนะอุดมการณ์  รูปการปกครอง และในฐานะวิถีทางดำเนินชีวิต สำหรับประชาธิปไตยของระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมต่างก็ยึดตามคติพจน์ของ อับราฮัม ลินคอล์น (Abrahan Lincoln .. 1809-1865) อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”   เนื่องจากประชาชนพลเมือง (Citizen) เป็นทั้งเจ้าของอำนาจปกครอง เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นเอง และเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเองด้วย

                นักรัฐศาสตร์อเมริกันชื่อ W.J.M. Mackenize ได้เริ่มการศึกษาเป็นครั้งแรกในเรื่อง กลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เมื่อ ค.. 1920 โดยเขาได้ศึกษาถึงทฤษฎีพหุนิยมซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในสหรัฐอเมริกาซึ่งทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าถนนที่จะไปสู่ประชาธิปไตยจะต้องอาศัยทฤษฎีพหุนิยม

            ทฤษฏีพหุนิยม

            โดยหลักการของทฤษฏีนี้คือ ประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่งคงอยู่ได้ด้วยการมีกลุ่ม สมาคม สันนิบาต องค์การ สหพันธ์ต่าง ๆ มากมายหลากหลายภายในรัฐ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมา และมีวิธีการดำเนินการที่เป็นไปโดยเสรี รวมถึงกลุ่มที่เรียกว่า

·         กลุ่มผลักดัน (Pressure groups)

·         กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups)

·         กลุ่มอุดมการณ์ (Ideological Groups)

          โดยกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) นั้นพิจารณาตามหลักของความเป็นจริงจากพฤติกรรมแล้วเป็นการรวมตัวของกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ได้ยึดถือเอาแนวอาชีพเดียวกันเป็นหลัก  เมื่อการรวมตัวกันดำเนินไปได้ด้วยดี มีการจัดองค์การที่ดี มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถสร้างพลังและเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล (Influence) และอำนาจ (Power) เหนือรัฐบาล เหนือผู้บริหารประเทศได้

            ศาสตราจารย์แกรแฮม วู๊ดตั้น (Graham Wootton) แห่งมหาวิทยาลัย Tuffts สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายความหมายของกลุ่มผลประโยชน์ไว้ว่า

            กลุ่มผลประโยชน์

            คืออกลุ่มทุกกลุ่มหรือองค์การทุกองค์การที่แสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ตามวิธีทางที่กำหนด ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบโดยตรงที่จะปกครองประเทศ กลุ่มผลประโยชน์เป็นของผู้ร่วมทัศนะที่ได้ทำการเรียกร้องต่อกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์นี้กระทำการเรียกร้องข้อเสนอของตน โดยผ่านสถาบันใด ๆ ของรัฐบาลก็ตาม กลุ่มผลประโยชน์นี้จะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง (Political Interest Groups) และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์ปฏิบัติการในระดับการเมือง กลุ่มนี้จะถูกเรียกว่ากลุ่มผลักดัน (Pressure Groups)

            กลุ่มผลักดัน

            คำว่ากลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เป็นองค์การผลประโยชน์ของกลุ่มชน ซึ่งสมาชิกได้มีส่วนร่วมในทัศนะ มีเป้าหมาย และกิจการตามโครงการของกลุ่มในอันที่จะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือรัฐบาล และมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล กลุ่มผลักดันหรือกลุ่มอิทธิพลนี้มิได้มีเป้าหมายเหมือนกันกับพรรคการเมือง ที่ว่า พรรคการเมืองต้องการชัยชนะ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ แต่กลุ่มผลักดันนั้นมีเป้าหมายใหญ่คือผลประโยชน์ในการเป็นเจ้าของหรือมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่จะมีผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสมาชิกของกลุ่มตน กลุ่มผลักดันหรือกลุ่มบีบบังคับนี้มีเจตนาที่จะแสวงหาอิทธิพลหรือมีอำนาจเหนือบรรดาบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจ และไม่ได้หมายความว่าจะส่งคนของกลุ่มเข้าไปใช้อำนาจเสียเอง  คือการเข้าไปอย่างไม่เป็นทางการ ตามสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน

            ความเป็นมาของกลุ่มผลประโยชน์  

            ลักษณะโครงสร้างของกลุ่มผลประโยชน์ดั้งเดิม นอกจากจะเป็นกลุ่มอาชีพเก่าแก่ของมนุษย์ เช่น แพทย์ นักกฎหมายแล้วโครงสร้างเกี่ยวกับจำนวนและผู้นำก็มีลักษณะสอดคล้องกันกับพรรคการเมืองดั้งเดิม กล่าวคือจำนวนสมาชิกของกลุ่มมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพแพทย์ หรือนักกฎหมายนั้นมีไม่มาก จึงเป็นกลุ่มของชนชั้นหนึ่งของสังคม ที่มีบทบาทและความสำคัญ สำหรับผู้นำของกลุ่มนั้นเป็นผู้มีบารมีอาวุโสสูง ลักษณะก็เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองแบบคอรัส หรือคณะกรรมการในพรรคการเมือง และนอกจากนี้ยังมีผลต่อกลุ่มผลประโยชน์ในทางการเมือง ที่รวมกันโดยเหตุผลทางการเมือง คือมีผลประโยชน์ร่วมกันในทางอุดมการณ์ทางการเมืองกลุ่มผลประโยชน์สมัยใหม่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของกลุ่มในเรื่องผู้นำกลุ่ม และสมาชิกของกลุ่มแล้ว  จะเห็นว่ามีสมาชิกเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก กลุ่มผลประโยชน์แบบดั้งเดิม เป็นลักษณะที่เป็นมวลชนคล้ายกันกับพรรคการเมืองมวลชน ส่วนผู้นำของกลุ่มผลประโยชน์นี้จะได้ตำแหน่งโดยการต่อสู้ทางการเมืองภายในกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีลักษณะของการเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากลุ่มอื่น และที่น่าสนใจเป็นพิเศษมาดูกันค่ะ

          การเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มผลประโยชน์ไปสู่พรรคการเมือง

           กรณีในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพของกลุ่มผลประโยชน์ไปสู่การเป็นพรรคการเมืองเด่นชัดขึ้นในระยะหลังการเปลี่ยนแปลง เดือนตุลาคม 2516 โดยการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่การเป็นพรรคการเมืองเช่น จากกลุ่มชาติไทยไปเป็นพรรคชาติไทย กลุ่มคึกฤทธิ์-บุญชู เป็นพรรคกิจสังคม หรือการเปลี่ยนจากกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่พรรคการเมือง เช่น กลุ่มนวพล กลายเป็นพรรคประชาเสรี กลุ่มต่อต้านคอมมูนิสต์ของ กอ.รมน. เป็นพรรคปวงชนชาวไทย  

           กลุ่มผลประโยชน์เป็นกลุ่มของผู้ที่มีอาชีพเดียวกัน มีอุดมการณ์อันเดียวกัน มีจุดหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มแต่เมื่อใดที่กลุ่มไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ของรัฐบาล กลุ่มนั้นจะเริ่มมีลักษณะของการมีอิทธิพล และมักจะเรียกว่า กลุ่มอิทธิพล หรือกลุ่มผลักดัน (Pressure groups) ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์นั้นถือว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง  ดังตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ในบางประเทศในช่วงที่ไม่มีพรรคการเมือง เช่น กรณีเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ กลุ่มผลประโยชน์ก็ทำหน้าที่แทนพรรคการเมืองในการรักษาผลประโยชน์และเป็นปากเสียงแทนประชาชนพลเมืองในแต่ละกลุ่ม

 

ศาสตราจารย์มอริส ดูแวร์เซ่ ได้แบ่งกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจผลักดันออกเป็น กลุ่มคือ

            1.กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณี

           กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณี (Exclusive Groups) คือกลุ่มหรือองค์การที่มีจุดประสงค์ที่จะรักษาผลประโยชน์ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะอย่างเดียวและอย่างจริงจัง เช่นเป้าหมายของกลุ่มจะมุ่งเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการเมืองและนโยลายของรัฐ  คืออยู่ภายในขอบเขตของการเมืองและนโยบายของรัฐเพื่อที่จะบีบบังคับผลักดันฝ่ายบ้านเมือง หรือฝ่ายปกครองเท่านั้น กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเป็นกลุ่มบีบบังคับทางการเมือง

            2. กลุ่มผลักดันบางส่วน (Partial Group) คือกลุ่มผลประโยชน์กิจกรรมบางอย่างของกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือนโยบายของรัฐ ส่วนกิจกรรมหลักของกลุ่มจะต้องมิใช่เรื่องของการเมืองหรือนโยบายของรัฐ  กลุ่มผลักดันบางเรื่องนี้มักจะได้แก่กลุ่มผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

          3. กลุ่มผลักดันเอกชน (Private Groups) กลุ่มผลักดันนี้ เกิดขึ้นโดยสถาบันของเอกชน เช่นธุกริจเอกชน บริษัท ห้างร้าน หน่วยการผลิต ความคิดกลุ่มผลักดัน

          4. กลุ่มผลักดันมหาชน (Public Groups) หมายถึง กลุ่มที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยอมรับกันว่าในบางครั้งหน่วยงานของรัฐมีวิธีปฏิบัติกิจกรรมคล้ายกับวิธีการของกลุ่มผลักดันเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยการบีบบังคับหรือใช้อิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ  กลุ่มผลักดันมหาชนหรือ กลุ่มผลักดันสาธารณะ

            กลุ่มผลักดันแฝง

            คำว่ากลุ่มผลักดันแฝงนั้นตรงกับคำอังกฤษว่า pesudo pressure groups เป็นกลุ่มลักษณะกลุ่ม องค์การ ชมรม ที่มิได้จัดอยู่ในลักษณะของกลุ่มผลักดันจริง เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการบริการด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนทั่วไป เช่น กลุ่มของนักวิชาการบีบบังคับทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่กระทำไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น เป็นลักษณะที่จะต้องมีค่าจ้างตอบแทน การบริการนั้นกลับไปมีผลในการบีบบังคับทางการเมือง  กลุ่มผลักดันแฝง หรือกลุ่มผลักดันเทียม

 

ศาสตราจารย์มอริส ดูแวร์เซ่ ได้แบ่งออกเป็น ประเภทดังนี้

                1. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เป็นกลุ่มบุคคลที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง แม้ว่าบทบาทของกลุ่มจะสามารถบีบบังคับ

                2. กลุ่มสื่อสารมวลชน หมายถึงกลุ่มผลักดันแฝงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในสภาวะสังคมในปัจจุบันได้มีความเจริญในด้านเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ศิลปวิทยาการสมัยใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของสังคมผิดแผกไปจากศตวรรษก่อน ๆ มาก สื่อสารมวลชนอันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ ได้รับการพัฒนาขึ้นทั้งทางคุณภาพและปริมาณ เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารที่สำคัญซึ่งจะขาดไม่ได้ เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ ของมนุษย์ รองจากเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และอาหาร ฉะนั้นในบางกรณีก็ยอมรับกันว่าสื่อมวลชนดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นสถาบันที่มีความสามารถบีบบังคับเหมือนกันกับกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ เป็นสถาบันทางเทคนิคแต่กลับมีบทบาทในการบีบบังคับทางการเมือง จึงต้องมองสื่อมวลชนใน ฐานะคือเป็นทั้งหน่วยธุรกิจการค้า และกลุ่มผลักดันแฝง

            กรณีประเทศไทยกล่าวถึงการรวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม-กลุ่มพันธมิตรฯ ในการโค่นล้มระบอบทักษิณจากกรณี นายสนธิ ล้มทองกุล กลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และบริวาร รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนเพื่อขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ โดยเริ่มที่การเรียกร้องการใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญปี 40เพื่อขอนายกพระราชทาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มแนวร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่ชั่วโมงนี้ใครไม่พูดถึงไม่ได้ค่ะ

            ประเด็นคือมาวิเคราะห์กันว่าการรวมกลุ่มของพันธมิตรฯ เริ่มต้นโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลนั้น เป็นเกมส์ ล้างแค้นเฉพาะกิจหรือเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเขากันแน่ ประเด็นความสงสัยเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นค่ะ หากเหตุการณ์การปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองซึ่งจากการประมาณการถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ตัวเลขความเสียหายยับเยินไปถึง 2แสนเก้าหมื่นล้านบาท โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

            กันยายน 2548 มีการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ออกจากช่อง จึงเกิดรายการเมืองไทยสัญจรที่สวนลุมพินี ก่อนย้ายไปลานพระบรมรูปทรงม้าและกลายเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในที่สุด โดยอ้างว่าเป็นการต่อสู้ของสื่อมวลชนที่ถูกรัฐบาลรังแก เขาต้องการให้ข่าวสารข้อมูลที่เป็นจริงแก่ประชาชนแต่ถูกรัฐบาลปิดกั้น เขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน สิทธิในการรับรู้ของประชาชน และไกลไปกว่านั้นเขาเห็นว่าสิทธิในการรับรู้ของประชาชนในประเทศนี้ต่ำเกินไป ดังนั้นต้องปฏิรูปการเมือง ทั้งๆที่แน่นอนที่สุดเขาไม่ใช่สื่อมวลชนคนแรกในประเทศไทยที่ถูกรัฐบาลทักษิณแทรกแซงปิดกั้น และการแทรกแซงสื่อเห็นได้ชัดเจนในยุคอดีตนายกฯ ทักษิณ นั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2544 เสียด้วยซ้ำ จึงเป็นที่น่าสังเกตค่ะว่าทำไมสื่อมวลชนอื่นที่ถูกปิดกั้นหรือถูกแทรกแซงก่อนหน้านี้ ไม่มีใครเลือกวิธีต่อสู้แบบเขา โดยเหตุการณ์ที่เขาเปิดโปงความฉ้อฉลต่างๆ ของอดีตนายกทักษิณเมื่อเดือนกันยายน 2548 จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากไม่เกิดความขัดแย้งทางธุรกิจระหว่างเขาและอดีตนายกทักษิณ

           โดยความขัดแย้งนั้นเริ่มการถูกปฎิเสธจากกรมประชาสัมพันธ์ โดยไม่ยอมให้ทีวีของเขาเกาะสัญญาณแอบเป็น 11newsอีกต่อไป และอีกกรณีคือการที่เขาพยายามให้บริษัทแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ปได้ออกจากแผนพื้นฟูฯ และนำบริษัทไทยเดย์เข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากอดีตนายกฯทักษิณ และนี่คือสาเหตุที่เขาเริ่มออกมา วิพากษ์วิจารณ์อดีตนายกฯและรัฐบาลอย่างกว้างขวาง และนี่คือผลที่ทำไมนักธุรกิจเจ้าของสื่อถึงได้ผันตัวเองมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง  โดยได้เลือกหยิบประเด็นการทำบุญประเทศในวัดพระแก้ว ที่ได้กล่าวว่าอดีตนายกฯทักษิณ ประพฤติไม่เหมาะสม ในการทำตัวตีเสมอพระมหากษัตริย์ โดย ใช้พระบรมมหาราชวังในการทำบุญ หรือโดยรวมคือพยายามโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเพราะอดีตนายกฯทักษิณกำลังแข่งพระบารมีพระมหากษัตริย์ และได้ใช้คำขวัญในการเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนในครั้งนี้ว่า สู้เพื่อในหลวง โดยอาวุธที่สำคัญที่เขาใช้ต่อสู้ในครั้งนี้ก็คือ เอเอสทีวี และหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ที่เขาเป็นเจ้าของนั่นเอง เหตุผลสำคัญที่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ คือ มองไม่เห็นประโยชน์ของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในลักษณะนี้ เนื่องจากกรณีประสบการณ์ในการต่อสู้ในยุค14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 บอกให้รู้ว่ามีเพียงชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในลักษณะนี้ และประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวนั่นแหล่ะจะต้องตกเป็นฝ่ายเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งที่จะได้มาของกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยกระบวนการในการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคน คนเป็นหลัก ผู้แทนองค์กร 21 องค์กรทำหน้าที่ในการระดมประเด็น ความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและทิศทางการเคลื่อนไหว เพื่อเสนอขึ้นสู่การตัดสินใจของทั้ง คน แต่ในวงในของทั้ง แกนนำนั้นมีอำนาจการตัดสินใจที่ไม่เท่ากัน จึงกลายเป็นว่าทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณและนายสนธิ ต่างใช้พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือห้ำหั่นซึ่งกันและกัน พยายามแสดงให้สาธารณะชนเห็นว่าเฉพาะตนและพวกพ้องเท่านั้นที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ส่วนฝ่ายตรงข้ามที่ลบหลู่พระราชอำนาจ และยังมีการใช้แง่มุมของกฏหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลัก กล่าวคือ เรียกร้องให้มีการใช้มาตรา ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540เพื่อเป็นแนวทางในการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีมาแทนทักษิณ แต่กระนั้นในเวลาต่อมาหลังจากพระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชวินิจฉัยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่าการใช้มาตรา ตามแนวทางที่พันธมิตรเรียกร้องนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญจึงทำให้ยุทธศาสตร์หลักแห่งการเคลื่อนไหวของพันธมิตรจบสิ้นลง โดยได้เบี่ยงเบนยุทธศาสตร์ไปในแนวทางอื่นที่เราคงทราบกันดี

            มาดูแนวคิดจากเรื่องดังกล่าวกันต่อค่ะ จากการที่หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรชื่อดัง กับรสนา โตสิตระ-กูลสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ-มหานคร นักเคลื่อนไหวทางสังคม ทางหน้าหนังสือพิมพ์นั้น ทำให้เห็นความคิดทาง การเมืองแบบแปลกๆ ในสังคมไทย หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ใช้เกณฑ์แนวคิดการเมืองแบบพวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ มาวิเคราะห์ ผลักให้สมาชิกวุฒิสภารสนาไปอยู่ฝ่ายซ้าย เพราะเหตุว่าเธอเคลื่อนไหวต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งณัฏฐกรณ์เห็นว่าเป็นการต่อต้านทุนนิยมเสรี ถ้าหากนิยมการแทรกแซงโดยรัฐก็สมควรไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่เปียงยาง ไม่ใช่กรุงเทพฯแต่สมาชิกวุฒิสภาโต้ว่า เธอไม่เพียงแต่จะไม่เป็นฝ่ายซ้าย แต่ยังออกจะขวาอีกด้วย เพราะเธอไม่ได้ต่อต้านทุนนิยมเสรี สิ่งที่เคลื่อนไหวนั่นเพียงแค่เพื่อธรรมาธิบาลและหลักนิติรัฐเท่า นั้นเอง ประการสำคัญเธอเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยสร้างดุลยภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและแน่ใจว่าประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสิ่งแวดล้อมได้รับการคุ้มครอง และเพื่อเป็นการแก้ข้อกล่าวหาว่าเธอเป็นฝ่ายซ้าย รสนาจึงตอบโต้ณัฏฐกรณ์ด้วยการอ้างถึงความนับถือและความชื่นชอบของเธอที่มีต่อบรรพบุรุษที่เป็นศักดินาของณัฏฐกรณ์เอง เช่นพระองค์เจ้าเทววงศ์วโรปกรณ์ ที่ได้นำพาประเทศชาติหลุดพ้นจากการเอาเปรียบของจักรวรรดินิยม

            ปัญหาว่าว่าอันไหนอยู่ทางซ้ายอันไหนอยู่ทางขวาเป็นประเด็นที่มีพลวัตขับเคลื่อนค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากพื้นฐานของการวัดนั้นขึ้นอยู๋กับสภาพกาลเทศะ ณ เวลานั้นๆ เสมอ ความคิดที่เคยเห็นว่าอยู่ซีกขวาในเวลาหนึ่งอาจจะย้ายไปอยู่ข้างซ้ายได้ในอีกเวลาหนึ่ง หรือความคิดที่อยู่ซีกซ้ายในสังคมหนึ่งอาจจะไปอยู่ข้างขวาในอีกสังคมหนึ่งก็เป็นได้

            การแบ่งแยกความคิดทางการเมืองแบบซ้าย-ขวาไม่ได้เกิดขึ้นมานานนักในสังคมไทยโดยต้นกำเนิดความคิดมาจากยุโรป เริ่มเดิมทีก็แค่การเลือกที่นั่งในสภาเท่านั้น เริ่มจากในประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตอนที่ฝรั่งเศสยังมีกษัตริย์ ขุนนางที่นั่งทางขวาของกษัตริย์เวลาประชุมมักเป็นพวกนิยมเจ้า อนุรักษนิยมไม่ค่อยชอบเปลี่ยนแปลงอะไรที่ขัดกับจารีตประเพณี ในขณะที่พวกที่นั่งข้างซ้ายมักจะเป็นฝ่ายค้านที่มีความคิดแบบราดิคัลชอบการเปลี่ยนแปลง ในที่สุดการจัดที่นั่งในสภานิติบัญญัติในเวลาต่อมาเลยนิยมจัดแบบนี้เป็นแม่แบบไป

            ยุคเริ่มแรกฝ่ายขวาในยุโรปมักจะเป็นพวกขุนนางพวกนิยมเจ้า หรือพวกนิยมและรักษาผลประโยชน์ชนชั้นสูง ในขณะที่ฝ่ายซ้ายก็เป็นตรงกันข้ามกล่าวคือนิยมความคิดแบบเสรี หรือหากพูดให้ตรงก็คือสนับสนุนทุนนิยมเสรี (laissezfaire) และตลาดเสรี แต่ต่อมาในศตวรรษที่19 เกิดความคิดสังคมนิยมขึ้นมา พวกฝ่ายซ้ายหันไปนิยมแนวคิดนี้แล้วละทิ้งความคิดทุนนิยมเสรีให้ไปอยู่ฝั่งขวา เพราะในเวลานั้นพวกขุนนางหายไปการพิจารณาทิศทางการเมืองเรื่องซ้าย-ขวาในบริบทของสังคมไทยไม่ง่ายนักเพราะความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เล่นไม่ค่อยมั่นคงหรือคงเส้นคงวาส่วนใหญ่แล้วมักจะแปรผันไปตามผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า คนที่เคยเป็นซ้ายย้ายไปอยู่ข้างขวา ส่วนคนที่เคยอยู่ซีกขวาหันไปจับมือกับคนที่เคยเป็นซ้าย นานวันเข้าเราก็แยกแยะไม่ออกว่าใครซ้ายใครขวา ในประเทศอื่นเราอาจจะไม่ค่อยเห็นเรื่องแบบนี้ แต่ในประเทศไทยเป็นสิ่งประหลาดและมันก็เกิดขึ้นแล้วที่อยู่มาวันหนึ่งสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองอนุรักษนิยมขวาจัดคนสำคัญ กลายมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่แกนนำสำคัญส่วนหนึ่งเป็นอดีตแนวรวมพรรคคอมมิวนิสต์ และในทำนองเดียวกัน อดีตแนวร่วมคอมมิวนิสต์อีกเหมือนกันที่ไปยืนอยู่กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีแกนนำสำคัญเป็นพวกนิยมเจ้า ทั้งสองฝ่ายต่างเสนอแนวคิดทางการเมืองที่มีความโน้มเอียงไปทางซ้ายและขวาพอๆ กัน ต่างฝ่ายต่างเลือกใช้กลยุทธ์ในการต่อสู้ทางการเมืองของทั้งซ้ายและขวามาห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

            ฉะนั้นจะเห็นว่าหากจะถือเอาตัวบุคคลเป็นหลักนั้นค่อนข้างทำยากและสับสนไม่น้อยว่าการเมืองแบบซ้ายและขวาในสังคมไทยว่าเป็นอย่างไรกันแน่  แต่ขณะเดี่ยวกันหากจับจุดพิจารณากันที่ความคิดทางการเมืองจะทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนมากกว่า โดยในบริบทของสังคมไทยโดยทั่วไปมักจะถือว่า ความคิดอนุรักษนิยมเป็นความคิดทางการเมืองที่อยู่ซีกขวา ความคิดที่ก้าวหน้ากว่านั้นจะอยู่ซีกซ้าย แนวคิดการเมืองแบบอนุรักษนิยมเป็นแนวคิดที่นิยมการรักษาสถานะเดิม (status quo) ดังนั้นจึงมักแอบอิงอยู่กับสถาบันดั้งเดิมเป็นสำคัญ ซึ่งก็คือสถาบันกษัตริย์เป็นแก่นสารทางอุดมการณ์ เพราะสถาบันนี้เป็นสถาบันที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองมานานในสังคมไทยโดยเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์กับสถาบันราชการและกองทัพเข้ามาอยู่ด้วยกัน พวกอนุรักษนิยมจะมองว่าสถาบันหลักเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นหลักให้แก่บ้านเมืองเรื่องชาติก็มักจะถูกผูกโยงเข้ากับสถาบันหลักเหล่านี้ พวกอนุรักษนิยมฝ่ายขวาจึงถือสิทธิว่าพวกตนรักชาติมากกว่าใคร และนิยมเอาลักษณะชาตินิยมในความหมายแคบๆ มาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามด้วย และที่เป็นที่นิยมยอดฮิตใช้มากทุกยุคทุกสมัยคือ การกล่าวหาคนที่ไม่คล้อยตามพวกเขาในทางการเมืองว่าเป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ไม่รักชาติ หรือถ้าถึงที่สุดแล้วในหลายกรณีพวกเขาจะพูดว่า พวกที่อยู่ตรงกันข้ามกับเขาไม่ใช่คนไทย

            พวกอนุรักษนิยมไม่สู้จะไว้วางใจสถาบันการเมืองของประชาชนเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาในรูปของพรรคการเมือง เพราะเห็นว่าสถาบันการเมืองของประชาชนมักต้องการอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องและความคิดทางเศรษฐกิจของอนุรักษนิยมไทยไม่ใช่ความคิดที่นิยมเศรษฐกิจเสรี พวกเขาชื่นชมเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มที่เติบโตมากับราชการและรัฐวิสาหกิจ มากกว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีแบบสุดขั้วที่เปิดให้คนหลากกลุ่ม (แม้แต่ต่างชาติ) เข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างกว้างขวาง การต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อรักษากิจการของรัฐ (หรือที่พวกเขาเรียกว่าสมบัติของชาติ) เหล่านี้ให้อยู่ในมือราชการหรือการบริหารของราชการต่อไปจึงฟังดูเป็นเหตุผลของพวกอนุรักษนิยมมากกว่าจะเป็นเหตุผลของฝ่ายก้าวหน้าที่เคยต่อต้านทุนนิยมในยุคที่กระแสสังคมนิยมขึ้นสูงนั่นเอง

         โดยจากการที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน อาจนำบริบทของทฤษฎีขบวนการทางสังคมใหม่ (New Social Movement –NSM) และทฤษฎีความขัดแย้ง(Conflict  Theory )มาช่วยในการอธิบายได้ดังนี้

 

            ทฤษฎีขบวนการทางสังคมใหม่ (New Social Movement -NSM)

            กำเนิดของขบวนการทางสังคมใหม่ คือการวิพากษ์ทฤษฎีการระดมทรัพยากรว่า สนใจเฉพาะการตอบคำถามว่าขบวนการทางสังคมเกิดขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกันก็วิพากษ์ทฤษฎีมาร์กซิสต์ว่ามีข้อจำกัดในการอธิบายปรากฏการณ์/ขบวนการทางสังคมใหม่ๆ เช่น ขบวนการสิ่งแวดล้อม ขบวนการสิทธิสตรีและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960s และ 1970s (Donatella Della Porta and Mrio Diani, 1999:11) ซึ่งได้ทำให้เกิดคำถามในหมู่นักทฤษฎีในยุโรปกลุ่มหนึ่งว่า เหตุใดจึงเกิดขบวนการซึ่งมิได้มีฐานจากความขัดแย้งทางชนชั้นเหล่านี้ขึ้นมาอย่างกว้างขวาง (ผาสุก, 2544)

           Alberto Melucci ได้ชี้ให้เห็นถึงการก่อตัวขึ้นของปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมหลังสมัยใหม่เหล่านี้ และเห็นว่าทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่ใช้อธิบาย คือทฤษฎีทางชนชั้นและทฤษฎีแนวการกระทำรวมหมู่ของสำนักอเมริกา หรือทฤษฎีการระดมทรัพยากร นั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากสนใจแต่เพียงองค์กรการเคลื่อนไหวยุทธศาสตร์ยุทธวิธี และความสำเร็จหรือความล้มเหลว การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของขบวนการทางสังคมโดยนักทฤษฎีซึ่งอธิบายภายใต้ทฤษฎีสังคมศาสตร์เท่าที่มีอยู่จึงให้คำตอบได้เพียงว่าขบวนการทางสังคมเกิดขึ้นอย่างไร?”แต่ไม่อาจให้คำตอบได้ว่าเหตุใดหรือ ทำไม ขบวนการทางสังคมจึงเกิดขึ้น (Melucci,1985:214)

           การตระหนักถึงความไม่เพียงพอของแนวการวิเคราะห์แบบชนชั้นดั้งเดิมนี้เอง ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกรอบการวิเคราะห์ของสำนักคิดที่เรียกว่า ขบวนการทางสังคมใหม่ เหตุที่ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นเกิดจากลักษณะความสัมพันธ์ทางชนชั้นดังกล่าวนี้ ขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ขบวนการกรรมกร จึงถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ในทัศนะของมาร์กซิสต์ต่อสู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อตำแหน่งทางภววิสัย(Objective location)และอัตลักษณ์ของจิตสำนึก(conscious identity)สอดคล้องต้องกัน สำนักมาร์กซิสต์ได้วิเคราะห์ว่าแหล่งที่มาสำคัญของการสร้างประวัติศาสตร์ความขัดแย้งหรือเชื้อปะทุของการกระทำรวมหมู่คือผลประโยชน์ทางวัตถุอันก่อให้เกิดตำแหน่งทางชนชั้น ซึ่งเชื่อมโยงการปะทะ-ประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวทางสังคม การวิเคราะห์ของมาร์กซิสต์ที่พยายามเชื่อมโยงผลประโยชน์ของชนชั้น(class interests)เข้ากับความขัดแย้งทางสังคมและการเรียกร้องผลประโยชน์(articulation)อย่างเป็นเหตุเป็นผล จึงเป็นเรื่องของชนชั้น (Pakulski, 1995:57)

            ในสายตาของกรอบการวิเคราะห์แบบขบวนการทางสังคมใหม่จึงเห็นว่า ข้อถกเถียงในเรื่องชนชั้นเริ่มตกต่ำลงหลังจากมีขบวนการทางสังคมใหม่ๆ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิแห่งความเป็นพลเมืองของชาวอเมริกัน (civil rights movements)  ขบวนการสิ่งแวดล้อมในยุโรป ขบวนการศาสนาแบบยึดมั่นในคัมภีร์ศาสนาอิสลาม(fundamentalist movement)ในตะวันออกกลาง ขบวนการผู้หญิง (feminist movement )ฯลฯ  ซึ่งขบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเชื่อมโยงกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และได้เปลี่ยนจากความขัดแย้งเดิมคือระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ มาเป็นการต่อสู้บนความต้องการผลประโยชน์และการจัดหาสวัสดิการ, การต่อสู้เพื่อให้รับรองความแตกต่างหลากหลาย, เพื่อให้รับรองสิทธิทางการเมือง สิทธิในการปกป้องรูปแบบและวิถีการดำเนินชีวิต สิทธิในอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล สิทธิในการดำรงอยู่ของชุมชน ฯลฯ โดยใช้วิธีการต่อสู้ผ่านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ความขัดแย้งและปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้เอง ได้นำมาสู่การขยายกรอบการวิเคราะห์แบบ ขบวนการทางสังคมใหม่”(New Social Movement )  การเกิดขึ้นของขบวนการทางสังคมเหล่านี้จึงใหม่ในแง่ที่ว่า ไม่ได้ใช้อาชีพหรือชนชั้นเป็นตัวเชื่อมประสาน

            Offe ได้กล่าวว่าในการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบการเมืองจำเป็นต้องเพิ่มการควบคุมระบบเศรษฐกิจ และตรงพื้นที่รอยต่อระหว่างระบบการเมืองกับส่วนของสังคมประชาซึ่งยังไม่ได้ถูกทำให้เป็น การเมือง พื้นที่สีเทา ที่กำลังจะกลายเป็น ส่วนการเมือง” นี้เอง ที่ขบวนการทางสังคมปรากฏได้ตัวขึ้นมา ขบวนการทางสังคมเป็นปรากฏการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และ/หรือขบวนการทางสังคมคือตัวกระทำการทางสังคมซึ่งช่วยทำให้พื้นที่อันเป็นของสังคมประชาได้เป็น การเมือง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ขบวนการทางสังคมช่วยทำให้ระบบการเมืองขยายกิจกรรมไปสู่สังคมประชา และทำให้ระบบการเมืองสามารถปรับตัวเข้ากับการท้าทายใหม่ที่เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม(Princen,1994:51-52)

           

            บริบทโดยสรุปแห่งลักษณะสำคัญของขบวนการทางสังคมใหม่สมารถแบ่งได้ ประการคือ

            1.ขบวนการเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของชนชั้นเดียว เหมือนในอดีตแต่เป็นการตอบโต้กับปัญหาและความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานหลากชนชั้น

            2. เป็นขวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ไม่ผ่านกลไกทางการเมืองที่ดำรงอยู่ เช่นพรรคการเมือง นักการเมือง หรือหวังพึ่งกลไกรัฐ เนื่องจากความขัดแย้งใหม่เหล่านี้ มีความซับซ้อนเกินกว่าที่สถาบันทางการเมืองในระบบจะจัดการได้

            3.ไม่ได้เป็นเรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เหมือนทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ แต่ขบวนการทางสังคมใหม่นี้ต้องการสร้าง กติกาหรือกฎเกณฑ์ชุดใหม่ในการดำรงชีวิต” อันเป็นการช่วงชิงการนำในการสร้างคำนิยาม/ความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่ต่อสู้ หรือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างวาทกรรมชุดใหม่ในเรื่องนั้นๆ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2540)

            พฤทธิสาณ ชุมพล (2546: 339-341) ได้สรุปให้เห็นลักษณะสำคัญซึ่งเป็นความ ใหม่ ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ไว้3 ประการคือ

            1. เป็นขบวนการทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นขบวนการทางการเมืองเพราะให้ความสนใจในเรื่องค่านิยมและวิถีชีวิตหรือเรื่องเชิงวัฒนธรรมมากกว่าและไม่ได้มุ่งที่จะเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐหรือครองอำนาจรัฐ

            2.มีฐานที่มั่นอยู่ในสังคมประชา โดยเน้นไปที่ลักษณะการอ้อมรัฐ(bypass the state) หรือเรียกได้ว่าไม่สนใจติดต่อหรือท้าทายอำนาจรัฐโดยตรง จึงมีลักษณะการทำกิจกรรมและลักษณะอุดมการณ์เชิงสัญลักษณ์(symbolic)เป็นหลัก

            3.มีพยายามที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งโดยเปลี่ยนแปลงค่านิยม และโดยการพัฒนาวิถีชีวิต ขึ้นมาเป็นทางเลือก (alternative life-styles) หรือเป็นการสร้างสรรค์วิถีชีวิตใหม่ โดยการท้าทายค่านิยมแบเดิมๆ

           

          ประพจน์โดยสรุปแห่งขบวนการสังคมใหม่ในประเทศโลกที่สามสามารถกล่าวได้ดังนี้

            1. ขบวนการทางสังคมใหม่ในโลกที่สามมักถูกให้ความหมายว่า เป็นการตอบโต้ของประชาชนอย่างหลากหลายและกว้างขวางต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดจากการพัฒนา ซึ่งเข้าไปรุกรานชีวิตชุมชนท้องถิ่น Kothari(1985) ได้ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ของขบวนการทางสังคมในโลกที่สามว่า เป็นความล้มเหลวของระบบการเมืองปกติ ทั้งสถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหารหรือรัฐบาลที่ตั้งอยู่บนทฤษฎีการมีส่วนร่วมแบบที่เน้นการเลือกตั้ง  โดยการมีส่วนร่วมนี้เป็นเพียงมายาคติ (myth)

            2.การพัฒนาที่ส่งผลกระทบกับชีวิตชาวบ้าน โดยรัฐและทุนได้บุกเข้าไปในชนบทมากขึ้น ทำให้บทบาทของรัฐเพิ่มขึ้น รัฐจึงเข้าไปใช้อำนาจควบคุมขบวนการทางสังคมแบบรากหญ้า (grass roots movements) โดยที่ขบวนการการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า ไม่ได้เปิดพื้นที่ในการต่อสู้นอกรัฐ แต่เป็นความพยายามที่จะเปิดพื้นที่ของการเมืองนอกเวทีปกติ เพื่อที่จะจัดความสัมพันธ์กับรัฐใหม่

            3. ขบวนการทางสังคมรากหญ้าถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะสลายการครองความเป็นเจ้า สลายความโดดเด่น หรืออาจพูดได้ว่า ขบวนการทางสังคมในโลกที่สามคือวาทกรรมแห่งการต่อต้านการพัฒนา(anti-development discourse) (Escobar, 1992 : 431)

 

ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict  Theory )

            ทฤษฎีการขัดแย้งของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ  ให้ชื่อโมเดลว่า Dialectical Conflict Perspective  ในทัศนะของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ องค์การสังคมคือ imperatively coordinated association เรียกย่อว่า ICA องค์การนี้มีขนาดต่างๆอย่างองค์การสังคมโดยทั่วไปตั้งแต่กลุ่มสังคม ชุมชนไปจนถึงสังคมมนุษย์  องค์การแต่ละขนาดประกอบด้วยบทบาทจำนวนหนึ่ง  แต่ละบทบาทจะมีอำนาจบังคับผู้อื่นจำนวนหนึ่ง  ดังนั้นในสายตาของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ  องค์การสังคมหรือไอซีเอของเขาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์อำนาจและอำนาจในองค์การถือได้ว่าเป็นสิทธิอำนาจ (authority) เพราะบทบาทเหล่านี้เป็นของตำแหน่งที่ยอมรับกันในองค์การ  ดังนั้น ความเป็นระเบียบทางสังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยการพยายามซ่อมบำรุงกระบวนการสร้างความสัมพันธ์แห่งสิทธิอำนาจเอาไว้

            สาเหตุของการขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดจากการที่บางครั้งอำนาจมีอยู่น้อยหายาก  กลุ่มย่อยต่างๆในไอซีเอจึงต้องแข่งขันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอันน้อยนั้น ถ้าเปรียบความคิดของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ กับของมาร์กซ์แล้วจะเห็นความพ้องกันในความคิด ดังนี้

            1.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าระบบสังคม (เข้าใจง่ายๆว่าคือสังคมมนุษย์มีสภาพการขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง

            2.ทั้งสองเห็นว่าการขัดแย้งนั้นเกิดจากการขัดกันในผลประโยชน์ ซึ่งติดเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม

            3.ทั้งสองเห็นว่าผลประโยชน์ที่ขัดกันนั้นสืบเนื่องมาจากการได้รับส่วนแบ่งอำนาจไม่เท่ากันระหว่างกลุ่มเหนือ (dominant) กับกลุ่มใต้(subjugated)

            4.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าผลประโยชน์ต่างๆ  มีแนวโน้มที่แยกออกเป็นสองฝ่ายที่ขัดกัน

            5.ทั้งสองเห็นว่าการขัดแย้งเป็นแบบวิภาษวิธี ซึ่งมติของการขัดแย้งครั้งหนึ่งจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ตรงข้ามกันขึ้น อันจะส่งผลให้มีการขัดแย้งคราวต่อไปอีกภายใต้เงื่อนไขเฉพาะอย่างหนึ่ง

            6.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นลักษณะที่ต่อเนื่องมาแต่โบราณ(ubiquitous)ของระบบสังคมและจะทำให้เกิดการขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในองค์การสังคมทุกระดับ  ซึ่งเป็นเรื่องของวิภาษวิธี

ประพจน์โดยสรุปที่ราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ สร้างขึ้นในทฤษฎีขัดแย้งเชิงวิภาษวิธีของเขามีดังต่อไปนี้ 

            1.การขัดแย้งมีโอกาสเกิดได้ หากสมาชิกของกลุ่มขัดแย้งรู้แน่ว่าผลประโยชน์ของตนคืออะไร และสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อมุ่งผลประโยชน์นั้น

            2.ความขัดแย้งจะเข้มข้นหากเงื่อนไขทางเทคนิค เงื่อนไขทางการเมือง และเงื่อนไขทางสังคม ในการรวมกลุ่มขัดแย้งเอื้ออำนวย

            3.ความขัดแย้งจะมีความเข้มข้น หากการกระจายสิทธิอำนาจและรางวัลเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

            4.ความขัดแย้งจะมีความเข้มข้นหากการสับเปลี่ยนโยกย้ายบุคคลไปมาระหว่างกลุ่มที่ผู้มีอำนาจกับกลุ่มผู้ไม่มีอำนาจเป็นไปได้โดยยาก

            5.ความขัดแย้งจะรุนแรง หากเงื่อนไขการรวมกลุ่มคนด้านเทคนิค ด้านการเมืองและด้านสังคมไม่อำนายหรืออำนวยให้ทำได้น้อย

            6.ความขัดแย้งรุนแรง  หากมีการเสียประโยชน์ในการแบ่งรางวัล สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนเกณฑ์จากเกณฑ์ตายตัว ไปเป็นเกณฑ์เชิงเปรียบเทียบหรือเกณฑ์จิตวิสัยเช่น  ใครทำดีกว่าใคร  ใครทำเก่งกว่าใคร

            7.ความขัดแย้งจะรุนแรงถ้ากลุ่มขัดแย้งไม่สามารถจะสร้างข้อตกลงควบคุมการขัดแย้งระหว่างกันขึ้นมาได้

            8.ความขัดแย้งที่เข้มข้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและการจัดองค์การใหม่ขึ้นในองค์การสังคมแห่งการขัดแย้งนั้น

            9.ความคิดขัดแย้งที่รุนแรงจะก่อให้เกิดอัตราการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและการจัดระเบียบใหม่ในองค์การสังคมที่เกิดการขัดแย้งนั้นอย่างสูง

            จากเหตุการณ์ของการรวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นต่อสังคมและตัวดิฉันเองหากเสียแต่ว่าไม่มีเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างมหาศาลอันหาที่เปรียบไม่ได้อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นวินาทีนี้หรืออาจต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ที่จะชดเชยความสูญเสียในครั้งนี้ได้ ด้วยการใช้ประเทศเป็นตัวประกันภายใต้การต้องการเอาชนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเช่นนี้ ดังประโยคที่พธม. ทิ้งท้ายไว้ว่า สงครามครั้งสุดท้าย เนื่องจากผู้ที่สูญสลายตัวจริงนั้นคือประเทศชาติ มิใช่คู่ต่อสู้ที่พธม. ต้องการเอาชนะแต่อย่างใดเลย

            ดังนั้นหากจะให้สรุปว่าการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นควรสนับสนุนหรือไม่อย่างไรในกรณีที่ยกกลุ่มตัวอย่างพันธมิตรมา ณ ที่นี้ ดิฉันจึงมีความคิดว่าอยากให้ทุกคนได้ใช้เกณฑ์แห่งกาลามสุตรเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจค่ะ เพราะนี่คือเครื่องมือชิ้นสำคัญเช่นกันที่ทำให้ตนเองได้ย้อนคิดและพิจารณาในเรื่องนี้ค่ะ

 

             กาลามสูตร

                ในขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนไทยมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันมาก หนักข้อพูดจากันไม่รู้เรื่องถึงขั้นฆ่าแกงกันก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลุ่มชนถูกปลูกฝังด้วยความเชื่อที่เป็นอวิชชาเพื่อกลุ่มเหล่านั้นใช้ในการต่อกรกับกลุ่มตรงข้าม ดังนั้นเราจึงควรรีบหยุดทบทวนด้วยสติ ยับยั้งถึงความอ่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นของเราให้ได้  โดยใช้วิชชาที่ว่าด้วยกาลามสูตร เพื่อเราสามารถตรวจสอบความเชื่อนั้นๆได้ว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ความจริงแท้มีอยู่หนึ่งเดียว ไม่ใช่ความจริงแท้ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามกรอกหูเราอยู่ และหากเราเข้าใจถึงร่วมกันแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่ความสามัคคีร่วมใจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาชาติไทยของเราให้ดียิ่งๆขึ้นไป ด้วยสติและความตั้งมั่นในความจริงที่ปรากฎ

            หลักของกาลามสูตรก็คือ อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

            อาจกล่าวได้ว่าเราไม่ควรรีบเชื่อหรือยึดถือตามสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

            1.ถ้อยคำที่ได้ยินมา หรือข่าวคราวที่แพร่สะพัด เช่น คนนี้เลว คนนั้นขายชาติ คนโน้นไม่จงรักภักดี เป็นต้น เพราะบ่อยครั้งถ้อยคำหรือข่าวนั้นเป็นการจงใจบิดเบือนหรือเป็นข่าวที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เราจึงไม่ควรปักใจเชื่อจนก่อเกิดอคติหรือความหลงใหลได้ปลื้มกันแต่แรก

            2. สิ่งที่เชื่อสืบกันมา หรือตำราเพราะอาจเป็นข้อสรุปที่ผิดหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจึงพึงระวังคนที่ชอบอ้างตำราหรือชอบยกคำพูดของคนดัง ๆ มาสนับสนุนความคิดของตน การกระทำเช่นนี้อาจเป็นเพราเขาหาเหตุผลที่แท้จริงไม่ได้นั่นเอง

                3. การเดา การคาดคะเนหรือการตรึกตรองตามอาการ เพราะการปลงใจเชื่อเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายอันเกิดจากความเสี่ยง

            4. ทิฐิของตัวเราเอง เช่น เราพบคนที่มีจริตหรือมีรสนิยมเหมือนเรา มีศาสนามีพื้นถิ่นหรือมีเชื้อชาติเดียวกับเรา เราก็อาจเลือกเชื่อเขามากกว่าคนอื่น

            5. ผู้พูดที่สมควรจะเชื่อได้หรือผู้นั้นเป็นครูเรา เช่นอย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะคนพูดคืออดีตนายกฯทักษิณ หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

            อีกประเด็นมาพิจารณาถึง วาระซ่อนเร้น โดยแม้ความเข้าใจหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในชาติอาจทำให้เกิดการฆ่ากันตาย เพราะสาเหตุความขัดแย้งทางด้านความคิดในการสนทนา แต่นั่นก็ยังเป็นเพราะการขาดสติ ส่วนประเด็นสำคัญที่นำพาให้ความคิดขัดแย้งรุนแรงขนาดนี้น่าจะเกิดจากการถูกโน้มน้าว ชักจูง ตัวอย่างชัดเจนกรณี   ตุลาคม 2519 ที่การขัดแย้งได้เกิดจากผู้คนที่ได้รับข้อมูลจากกลุ่มสร้างสถานการณ์ก่อความไม่สงบโดยหวังผลเลิศเพียงเพื่อตนและพวกพ้องต้องการที่จะซื้อเวลาครอบครองอำนาจให้นานที่สุดเท่านั้นเอง

            ดิฉันอยากทิ้งท้ายอีกเรื่องสำหรับการทบทวนความคิดของพวกเราทุกคนในการพิจารณาถึงประเด็นเหตุบ้านการเมืองของเราที่เกิดขึ้นก็คือ เราต้องไม่อายที่จะเปลี่ยนความเชื่อ ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ปรากฏ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน การที่เราก็เป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งการตัดสินใจจากความคิดที่ผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องสงสัย ดังนั้นขึ้นอยู่ที่เรากล้าที่จะเปลี่ยนความคิด การตัดสินใจของตนเองหรือเปล่า สำหรับการเผชิญหน้ากับความจริงอันปวดร้าวที่กำลังปะทุขึ้นในใจเรา และในบ้านเมืองเราเท่านั้นเอง อย่าลืมสังคม ยังต้องการคนกล้า ไม่ว่าจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าคิดนอกกรอบก็ตาม โดยพื้นฐานแห่งความกล้าที่เป็นบรรทัดฐานก็คือความถูกต้อง เที่ยงทำในกรอบของศีลธรรมและจริยธรรมเท่านั้นเอง จึงขอฝากถึงฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายอื่นใดก็ตามที่กำลังยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเองอย่างมาก และฝ่ายเดียวนั้น ลองดูค่ะใช้ความกล้าหาญทางศีลธรรมและจริยธรรมช่วยตรวจสอบตัวเราเองด้วยกาลามสูตร ผลที่ได้รับมีแต่จะเพิ่มพูน ไม่ว่าจะด้วยตัวคุณเองหรือตลอดจนประเทศชาติอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคนค่ะ

 



ที่มา: http://patriotbkk.hroyy.com/2009/01/09/ขบวนการเคลื่อนไหวทางสั/