อึ้ง!จ้างทำบัตรเครดิต 2 พัน

แบงก์บีบฝ่ายขายเล่นเกม ‘ตลาดสีเทา’รักษายอดเอาตัวรอด

แบงก์สั่งแกมบังคับพนักงานเดินหน้าหาลูกค้าบัตรเครดิต สวนทางสภาพเศรษฐกิจ เปิดช่องพนักงานเอาต์ซอร์สหัวใส ซูเอี๋ยลูกค้าสมัครสมาชิก เผยพฤติกรรม เจรจาลูกค้า พร้อมแบ่งตอบแทนให้คนที่มีคุณสมบัติฐานะการเงินปึ้กสมัครสมาชิก เผยค่าตอบแทนล่อใจ รายละ 2,000 บาท ด้านแบงก์มองไม่ใช่เรื่องแปลกไม่กระทบภาพลักษณ์ ระบุอาจเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เผยปัจจุบันไม่เน้นลูกค้ารายใหม่ แต่หันมากระตุ้นลูกค้าเดิมใช้จ่ายมากขึ้น

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และการยื่นขอสินเชื่อของประชาชนลดลงต่อเนื่อง เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังการปล่อย สินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะความกังวลยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอาจเป็นต้นทุนของสถาบันการเงินนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งขณะที่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ทำให้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) พากันขยับตัวในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อทั้งในส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องทางการเงินสูง และมีภาระต้นทุนในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝาก โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะในส่วนของบัตรเครดิต

แต่อีกทางหนึ่งในความพยายามที่จะให้พนักงานของตนหาสมาชิกบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ทำให้พนักงานต้องหาช่องทางต่างๆ เพื่อทำยอดให้ได้ตามเป้าซึ่งช่องทางหนึ่งของ พนักงานก็คือการยอมจัดสรรเงินค่าตอบ แทนกันระหว่างพนักงานกับบุคคลที่จะสมัครบัตรเครดิตเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินเหล่านั้นมีการให้ค่าตอบแทนกับพนักงาน ซึ่งแล้วแต่ประเภทของบัตรเป็นจำนวนตั้งแต่ 800-2,000 บาทต่อสมาชิก 1 ใบ

แหล่งข่าวซึ่งเป็นพนักงานธนาคารผู้หนึ่ง บอกว่า ปัจจุบันตนเป็นพนักงานธนาคาร ระดับล่าง ซึ่งนอกจากจะต้องหาลูกค้าทั้งในเงินฝาก และด้านสินเชื่อแล้ว ยังต้องหาสมาชิกบัตรเครดิตให้ได้ตามเป้าที่ธนาคารตั้งไว้ในแต่ละเดือนด้วย โดยธนาคารจะให้ค่าตอบแทนกับพนักงานเมื่อบุคคลที่พนักงานดึงมาสมัครสมาชิกผ่านเกณฑ์และได้รับอนุมัติบัตรเครดิต

สำหรับวิธีการนั้น พนักงานธนาคารจะหาบุคคลที่มีฐานะการเงินดี และมีความสามารถในการชำระหนี้สูง ซึ่งอาจจะเป็นข้าราชการระดับกลางขึ้นไป หรือเป็นกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนที่มีตำแหน่งหน้าที่ทาง การเงินเป็นที่ยอมรับ ที่เชื่อว่าเมื่อสมัครสมาชิกบัตรเครดิตแล้วจะไม่ถูกธนาคารหรือสถาบันการเงินรีเจ็กต์ โดยยอมจัดสรรส่วนแบ่งที่ได้รับจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน แบ่งให้กับคนที่สมัครสมาชิกบัตรในสัดส่วนเกือบครึ่งที่ได้รับ อาทิ ธนาคารแห่งหนึ่งให้ค่าตอบแทนกับพนักงานในการหาสมาชิก บัตรเครดิตถึงใบละ 1,500-2,000 บาท ซึ่งพนักงานอาจแบ่งให้กับผู้สมัครสมาชิกบัตรถึง 50% หรือประมาณ 800-1,000 บาท หรือบางรายยอมจ่ายค่าตอบแทนจากธนาคารของตนเต็มจำนวนให้กับสมาชิกบัตรเครดิตในรายนั้นที่ผ่านเกณฑ์และได้รับอนุมัติ

แหล่งข่าวกล่าวว่าวิธีการหาสมัครสมาชิก บัตรเครดิตดังกล่าวในขณะนี้กำลังเป็นที่นิยม ในหมู่พนักงานธนาคารที่ต้องหาสมาชิก เนื่อง จากวิธีดังกล่าวนี้นอกจากจะไม่ผิดระเบียบแล้ว ยังสามารถช่วยให้พวกตนหาสมาชิกได้ ตามโควตาที่กำหนดด้วย ส่วนบุคคลที่สมัครสมาชิกซึ่งเมื่อได้รับการอนุมัติบัตรเครดิตแล้ว ก็ได้รับสิทธิตามที่บัตรเครดิตเหล่านั้นเสนอให้กับสมาชิก หรือบางรายที่ไม่ต้องการบัตรเครดิตก็สามารถแจ้งยกเลิกได้ในภายหลัง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่สถาบันการเงินหันมาให้พนักงานหาสมาชิกเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารเองก็มีการ หาสมาชิกบัตรผ่านเอาต์ซอร์สซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องให้ค่าตอบแทนสูงกว่า พนักงานของตนเองทำให้เป็นไปได้ว่าต้องหันมาพึ่งพนักงานตนเองมากขึ้น เพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันทางเอาต์ซอร์สเหล่านั้นก็อยู่ ได้ด้วยเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งหากหาสมาชิกบัตรได้มากก็ทำให้ได้ต่าตอบแทนสูงเป็นเงาตามตัว แต่ในปัจจุบันคนทำบัตรเครดิตยากขึ้น จึงต้องเพิ่มผลประโยชน์ตอบ แทนให้กับเซลส์ หรือบุคคลที่มาสมัครบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นด้วยวิธีการแบ่งผลประโยชน์กันดังกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการธนาคาร กล่าวถึงกรณีที่พนักงานสมยอมกับลูกค้าในเรื่องการสมัครบัตรเครดิตว่า เรื่องดังกล่าวนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ หรือกระทบต่อการทำงานของธนาคาร เนื่องจาก ในปัจจุบันธนาคารเองก็ไม่เน้นที่จะเพิ่มปริมาณบัตรเครดิตกันมากนัก แต่จะไปเน้นใน เรื่องกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าเก่ามากกว่า โดยจะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจลูกค้า ซึ่งแต่ละธนาคารก็มีวิธีการต่างกันไป อาทิ กำหนดให้ลูกค้าเก่าไปแนะ นำเพื่อนฝูง ญาติ พี่น้อง มาสมัครเป็นสมาชิก บัตรเครดิต เมื่อลูกค้าใหม่ได้รับการอนุมัติบัตรก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การรับบัตร กำนัล หรือคะแนนสะสม เพื่อนำไปเป็นส่วนลด หรือแลกเป็นของที่ระลึก

“กรณีที่พนักงานไปซูเอี๋ยกับลูกค้าก็คงจะไม่เสียหายมากนัก ซึ่งแบงก์เองเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ให้ส่วนแบ่งอะไรมาก ที่สำคัญแบงก์ให้ความเข้มงวดในการออกบัตรกับลูกค้าใหม่ ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่แอ็กทีฟภายใน 1 ปีก็จะถูกยกเลิกบัตรไปเอง ซึ่งในส่วนนี้แบงก์อาจมีต้นทุนในเรื่องของการทำบัตรอยู่บ้าง แต่ก็รับได้เมื่อเทียบกับลูกค้าที่แอ็กทีฟในการใช้จ่ายผ่านบัตรและมีรายได้ทั้งในส่วนของมาร์จิ้นอยู่บ้าง”

ที่มา http://www.siamturakij.com/home/news/print_news.php?news_id=413338357